ความสำคัญของวิตามินกับการเลี้ยงกุ้งกุลาดำ

ความสำคัญของวิตามินกับการเลี้ยงกุ้งกุลาดำ

วิตามิน เป็นสารอาหารมีความจำเป็นชนิดที่ขาดไม่ได้ แต่ต้องการในปริมาณที่น้อยๆ เพราะเป็นองค์ประกอบในเอนไซม์และโคเอนไซม์ที่จำเป็นต่อระบบการเจริญเติบโต ตลอดจนกระบวนการเสริมสร้างสุขภาพของกุ้งโดยเฉพาะการเลี้ยงกุ้งระบบพัฒนา ปล่อยหนาแน่นมาก อาหารธรรมชาติมีน้อย เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมบ่อย ๆ

กุ้งเป็นสัตว์ที่สังเคราะห์วิตามินบางชนิดเองไม่ได้ หรือถ้าได้ก็ไม่เพียงพอ จึงต้องมีการเสริมวิตามินลงไปในอาหารเม็ดสำเร็จรูป  เพื่อเป็นตัวกระตุ้นให้กุ้งอยากกินอาหาร ช่วยให้กุ้งทำให้กุ้งโตไว มีอัตราการแลกเนื้อต่ำ และมีอัตราการรอดสูง  

แต่วิตามินมักถูกทำลายไปกับน้ำ สิ่งแวดล้อม และเสื่อมสลายไปด้วยความร้อนที่เกิดขึ้นในระหว่างการผลิต และการเก็บรักษาเสมอ ดังนั้นจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเติมวิตามินให้มากเกินความต้องการในอาหารกุ้ง เพราะมีส่วนสำคัญในการช่วยให้กุ้งใช้ประโยชน์จากสารอาหารที่ให้ไปอย่างเต็มประสิทธภาพ

ทำไมเราต้องเสริมวิตามินลงในอาหารเพิ่มเติม?

  1. เนื่องจากกุ้งกินอาหารได้ช้า ดังนั้นอาหารเม็ดที่แช่อยู่ในน้ำเป็นเวลานานหลาย ๆ ชั่วโมง อาจมีวิตามินบางส่วนที่ละลายน้ำออกมา อาจทำให้วิตามินหลงเหลือในอาหารเม็ดน้อยเกินไป โดยเฉพาะวิตามินชนิดละลายน้ำ การเสริมให้มีความเข้มข้นสูงขึ้นก็เพื่อให้แน่ใจได้ว่าระดับวิตามินที่ยอมรับได้ยังคงมีอยู่ในเม็ดอาหาร
  2. วิตามินถูกทำลายไปขณะอยู่ในขั้นตอนของการผลิตอาหารและการจัดเก็บอาหาร  ข้อนี้เป็นความจริงทีเดียวโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับวิตามินซี ซึ่งจะเกิดจากการ oxidation กับไขมันในอาหารเม็ด
  3. วิตามินที่อยู่ในส่วนผสมของอาหารมีปริมาณไม่คงที่ ต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงมากต่อการตรวจหาวิตามินแต่ละชนิดและแต่ละชุดการผลิตของอาหารดังนั้นการเสริมความเข้มข้นให้สูงเกินพอจึงเป็นวิธีที่ง่ายกว่า
  4. ส่วนประกอบอาหารต่าง ๆ อาจมีตัวยับยั้งคุณค่าสารอาหาร ซึ่งไปลดหรือแทรกแซงการทำหน้าที่ของวิตามิน เช่น ผลการ oxidation ของไขมันจะทำให้เพิ่มความต้องการในวิตามินอีมากขึ้น

วิตามินแบ่งได้ 2 ประเภท ตามความสามารถในการละลาย

  1. วิตามินที่ละลายในไขมัน (Fat Soluble Vitamins) ได้แก่ วิตามินเอ ดี อี เค
  2. วิตามินที่ละลายในน้ำ (Water Soluble Vitamins) ได้แก่ วิตามินบีรวมหรือบีคอมเพล็ก (B1 , B2 , B6 , B12) ,ไนอาซิน , กรดแพนโตเธนิค , กรดโฟลิค , อิโนซิท็อล , ไบโอติน,โคลีน และวิตามินซี

ตารางแสดงความสำคัญของวิตามิน

กลุ่มละลายในไขมัน

หน้าที่

อาการขาด

วิตามินเอ

มีลักษณะเป็นผลึกสีเหลืองอ่อน

ควบคุมการทำงานของเยื่อบุผิวต่าง ๆ เช่น ท่อทางเดินหายใจและท่อทางเดินอาหาร ช่วยในการมองเห็น การสืบพันธุ์  เสริมสร้างการเจริญเติบโต ช่วยในการสร้างเปลือก ควบคุมการเผาผลาญคาร์โบไฮเดรต โปรตีน และไขมัน เสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกัน และเพิ่มความต้านทานเชื้อก่อให้เกิดโรค ช่วยให้กุ้งมีสีสวยขึ้น

  • มีผลต่อการมองเห็นของกุ้ง
  • การเจริญเติบโตช้า ติดโรคง่าย
  • ทำให้กุ้งมีสีผิดปกติ เปลือกนิ่ม

วิตามินดี

มีลักษณะเป็นผลึกสีขาว   หรือเหลืองอ่อน

ช่วยในการดูดซึมแคลเซี่ยม และฟอสฟอรัสในลำไส้ให้เป็นไปอย่างปกติ มีความสำคัญต่อขบวนการสร้างเปลือก ทำให้กุ้งลอกคราบได้สมบูรณ์และเปลือกแข็งเร็ว

  •  ทำให้กินอาหารลดลง มีผลต่อการเจริญเติบโต
  •  เปลือกไม่แข็งและเชื่องช้า

วิตามินอี

มีลักษณะเป็นน้ำมันข้นสีเหลือง

ช่วยในการสังเคราะห์วิตามินซี เพิ่มประสิทธิภาพการย่อยอาหาร ช่วยให้การทำงานของวิตามินเอและดีเพิ่มขึ้น ช่วยให้เซลล์ตับแข็งแรงและลดการสะสมไขมันในตับ นอกจากนี้ยังทำหน้าที่ร่วมกับซิลิเนียม และวิตามินซีในการควบคุมการสืบพันธุ์

  • ทำให้การสืบพันธุ์ไม่ดี และระบบการสืบพันธุ์ผิดปกติ
  • สีของกุ้งผิดปกติ
  • ตับบวม

วิตามินเค

มีลักษณะเป็นสารสีเหลือง

มีบทบาทเกี่ยวข้องกับการแข็งตัวของเลือด แต่ไม่มีผลต่อการเจริญเติบโตของกุ้ง

  •  ทำให้โลหิตจาง

กลุ่มละลายในน้ำ

หน้าที่

อาการขาด

วิตามินบี 1 (Thiamine)

มีลักษณะเป็นผลึกสีขาว มีกลิ่นคล้ายยีสต์ และรสเค็ม

ช่วยให้การใช้คาร์โบไฮเดรตในร่างกายมีประสิทธิภาพ ช่วยในการทำงานของระบบประสาท กระตุ้นความอยากกินอาหาร ทำให้กินอาหารได้มากขึ้นช่วยในการย่อยอาหารโตเร็ว

  •  เบื่ออาหาร ทำให้การเจริญเติบโตลดลง
  •  ระบบประสาทผิดปกติ กล้ามเนื้ออ่อนแอ สีซีด

วิตามินบี 2 (Riboflavin)

มีลักษณะเป็นผลึกสีน้ำตาลปนเหลือง

มีความสำคัญในการเผาผลาญอาหารประเภทแป้ง และไขมันกุ้ง ทำให้การใช้พลังงานของกุ้งเป็นไปตามปกติ ช่วยให้กุ้งกินอาหารเพิ่มขึ้น โตเร็วและลดอัตราการตายของกุ้ง

  • เจริญเติบโตช้า ว่ายน้ำผิดปกติ
  • ทำให้ผลผลิต อัตราการแลกเนื้อไม่ดี

วิตามินบี 6 (Pyridoxamine)

มีลักษณะเป็นผลึกสีขาว หรือ ผงละเอียด

มีหน้าที่สำคัญที่สุดคือการสร้างกรดอะมิโน และจำเป็นต่อการสร้างกรดไขมันที่จำเป็นแก่ร่างกายกุ้ง และฮอร์โมนในระบบประสาท ช่วยให้กุ้งโตเร็วและลอกคราบได้ดี

  • เบื่ออาหาร น้ำหนักลด โตช้า ตับและหัวใจผิดปกติ อัตราการฟักตัวต่ำ อัตราการตายสุง ว่ายน้ำผิดปกติ

วิตามินบี 12 (Cyanocobamin)

มีลักษณะเป็นผลึกสีแดงส้ม

 มีหน้าที่ในการสังเคราะห์กรดอะมิโน มีความสำคัญในการสร้างเม็ดเลือด  สำคัญต่อการใช้และสร้างโปรตีน และ กรดไขมันของตัวกุ้ง ช่วยให้กุ้งกินอาหารมากขึ้นและโตเร็ว

  •   ทำให้การสร้างโปรตีนลดลง
  •   การเจริญเติบโตไม่ดี

กรดแพนโททีนิค

มีลักษณะเป็นน้ำมันข้นสีเหลือง

 มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการเผาผลาญพลังงานจากโปรตีน ไขมัน คาร์โบไฮเดรต และช่วยในการสังเคราะห์คลอ-เรสเตอรอล และฮอร์โมนบางชนิด ป้องกันโรคเกี่ยวกับเหงือกช่วยให้โตเร็วและอัตรารอดสูง

  • ทำให้ความต้านทานเชื้อโรคน้อย กล้ามเนื้ออ่อนแอ  ทนต่อความเครียดได้น้อยลง เบื่ออาหารส่วนที่เป็นเหงือกพิการเสียรูปทรง

ไนอะซีน

มีลักษณะเป็นผลึกรูปสีขาว

มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับขบวนการเมตาบอลิซึมของคาร์โบไฮเดรต และไขมัน    ช่วยให้กุ้งกินอาหารได้มากขึ้นโตเร็ว มีอัตราการแลกเนื้อที่ดี

  •    เบื่ออาหาร อัตราการเจริญเติบโตต่ำ

ไบโอติน

มีลักษณะเป็นผลึกรูปเข็มยาว สีขาว

มีหน้าที่เกี่ยวข้องในการเผาผลาญพลังงาน มีบทบาทสำคัญในการสร้างกรดไขมัน สามารถช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกันในโรคกุ้ง

  •   มีผลต่อการเจริญเติบโต ทำให้กุ้งโตช้า
  •   สีไม่สวย

กรดโฟลิก

มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการสร้างเม็ดเลือดให้เป็นปกติ เป็นสารที่จำเป็นในการสร้างโครงสร้างกรดอะมิโน ส่งผลให้กุ้งกินอาหารมากขึ้น โตเร็ว

  •    การเจริญเติบโตช้า
  •    การฟักเป็นตัวต่ำ

อิโนซิท็อล

เป็นองค์ประกอบในเนื้อเยื่อเซลล์ ทำหน้าที่ร่วมกันกับโคลีนในการควบคุมระดับไขมันและคลอเรสเตอรอลในตัวกุ้ง เพิ่มประสิทธิภาพการย่อยอาหาร โตเร็วและอัตราการรอดสูง

  •    การเจริญเติบโตช้า

โคลีน

มีความสำคัญต่อขบวนการเมตาบอลิซึมของไขมันอย่างมาก เพราะโคลีนจะช่วยลดปริมาณการสะสมของไขมันในตับได้ มีบทบาทต่อการทำงานของระบบประสาทในการค้นหาอาหาร จึงช่วยให้กุ้งมีความอยากกินอาหาร โตเร็ว และการย่อยอาหารทำได้ดีขึ้น

  •   เติบโตช้า
  •   ตับโต

วิตามิน ซี

มีบทบาทสำคัญในการสร้างคอลลาเจน ซึ่งเป็นสารสำคัญในการสร้าง-เนื้อเยื่อ ช่วยทำให้เปลือกแข็งแรง แผลหายเร็วขึ้น ผนังเส้นเลือดแข็งแรง มีบทบาทในการสร้างฮอร์โมนของการลอกคราบ ลดความเครียด สร้างภูมิต้านทาน กระตุ้นการกินอาหาร

  • ลอกคราบช้า โตช้า
  • ติดโรคได้ง่าย
  • อัตรารอดต่ำ
เราใช้คุกกี้เพื่อประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ การใช้งานเว็บไซต์ต่อ จะถือว่าคุณยอมรับการใช้คุกกี้